mangoSTEEMS Coding with CodeMonkey

 Dec 18, 2020

mangoSTEEMS Coding with CodeMonkey

Friday - December 18, 2020 (9.00-12.00pm)

Lecturer: อาจารย์ ทินกร ชุณหภัทรกุล / นางสาวนวพร กังสาภิวัฒน์ / นางสาว ชนิตา พรหมมา

 

Coding มีประโยชน์อย่างไร? ในศตวรรษที่ 21
กรณีศึกษาประเทศสหภาพยุโรป

ดร.นงค์ลักษณ์ โชติวิทยธานินทร์
เลขานุการคณะกรรมการบริหารโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

         คำว่า “Coding” หรือ “โค้ดดิ้ง” เป็นอีกคำหนึ่งที่เราจะได้ยินคนพูดหรือเขียนถึงกันมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2017 (2560) เป็นต้นมาในแวดวงการศึกษาไทย และรัฐบาลของทุก ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็ตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้วิชา(การเขียน)โค้ดดิ้งด้วยเช่นกัน ทำไม? จึงเป็นเช่นนี้ เรามาร่วมค้นหาคำตอบไปด้วยกัน

         การเรียนรู้วิชา(การเขียน)โค้ดดิ้งส่งผลด้านบวกต่อผู้เรียนคือ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เติบโตหรืองอกงาม สอนให้รู้จักการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน ช่วยให้การทำงานร่วมกันไร้ข้อจำกัดทั้งเชิงกายภาพและภูมิศาสตร์ และผู้คนสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจง่ายและสะดวกขึ้น เพราะโค้ดดิ้งเป็นภาษาสากล (Universal language) 

         จะเห็นได้ว่าการโต้ตอบระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์แต่ละครั้งถูกควบคุมผ่านโค้ด (Code) ไม่ว่าคุณจะสร้างเว็บ (Web) ทำแอป (App) ใช้ระบบจีพีเอส (GPS: Global Position System) นำทางขับรถยนต์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้คนมากมายทั้งที่เคยรู้จักและไม่รู้จักกันมาก่อนบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก โค้ดดิ้งมีปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งและเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจโลกที่เชื่อมต่อกันแบบไฮเปอร์ (hyper-connected) 

         การเรียนรู้วิชา(การเขียน)โค้ดดิ้งช่วยพัฒนาหรือสร้างทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving) การทำงานเป็นทีม (Teamwork) และการคิดวิเคราะห์ (Analytical thinking) เป็นต้น ยิ่งไปกว่านี้ การเรียน Coding ในศตวรรษ​ที่​ 21 นี้ หากได้เริ่มต้นกันตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก
ก็จะเป็นการปลูกฝังการสร้างกระบวนการ​คิด และยังสามารถต่อยอดได้รวดเร็วเมื่อเด็ก ๆ ต้องเข้าศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป พร้อม ๆ กับมีพื้นฐานที่จะรับมือกับยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

         โค้ดดิ้งถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนทำงานทุกสาขาอาชีพหรือวิชาชีพ คุณทราบหรือไม่ว่าอาชีพมากกว่าร้อยละ 90 ในปัจจุบันต้องการบุคคลที่มีความสามารถด้านดิจิทัล (Digital competences) รวมถึงความสามารถด้านการเขียนโค้ด ซึ่งปี 2020 นี้ ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมีตำแหน่งงานว่างด้าน ICT มากถึง 825,000 ตำแหน่ง โดยมีสาเหตุหลักคือการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลและโค้ดดิ้ง ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการใหม่ ๆ หรือตอบสนองช้าเกินกว่าโลกการทำงานจริง 

         เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนทุกกลุ่มในสังคม (ทุกช่วงวัย) และเพื่อรับรองความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของยุโรป ทำให้สหภาพยุโรปให้ความสนใจกับการจัดการเรียนการสอนวิชา(การเขียน)โค้ดดิ้งมากขึ้น และเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของพลเมืองยุโรปผ่านโครงการริเริ่มหลายโครงการ อาทิ

EU Code Week – ศิลปะการสร้างโค้ด กระตุ้นให้ผู้คนสนใจเรียนรู้การเขียนโค้ด องค์กรและบริษัทต่าง ๆ ส่งเสริมให้ผู้คนมีประสบการณ์ที่สนุกเกี่ยวกับการฝึกหรือเรียนเขียนโค้ด 

Digital Skills and Jobs Coalition – พัฒนาทักษะดิจิทัลและการเขียนโค้ดเพื่อสร้างสังคมและตลาดแรงงานให้เติบโต โดยผสานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร และภาคการศึกษาให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการไม่มีทักษะดิจิทัลของพลเมืองยุโรป

European Coding Initiative – ริเริ่มให้บริษัท Microsoft, SAP, Liberty Global และ Facebook ร่วมกับ European Schollnet ช่วยกันพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดให้กับคุณครูเพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับเด็กเรียนและผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ต่อไป ฯลฯ

          ท้ายนี้ หากผู้บริหารสถานศึกษาหรือคุณครูท่านใดสนใจโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ช่วยฝึกการเขียนโค้ดดิ้งสำหรับเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาขึ้นไป สามารถติดต่อขอคำแนะนำหรือขอคำปรึกษาฟรีได้ที่ mangoSTEEMS Learning Center พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้แบบเปิดที่มุ่งตอบโจทย์การเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ณ อาคาร ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 189 ถนนราชวิถี แขวงวชิระเหนือ เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02-004-0784 หรือมือถือ 06-4280-5620