mangoSTEEMS English: Raz-Plus Product Training การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทยยุคดิจิทัล...สำคัญไฉน??

 Dec 12, 2020

mangoSTEEMS English: Raz-Plus Product Training

Saturday - December 12, 2020 (9.00-12.00pm) 

Lecturer: Kittipat Chaloeysub / Nawaporn Kubgsapiwatana

 

การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทยยุคดิจิทัล...สำคัญไฉน??

ดร.นงค์ลักษณ์ โชติวิทยธานินทร์
เลขานุการคณะกรรมการบริหารโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

         เมื่อเร็ว ๆ นี้ อีเอฟ เอ็ดดูเคชั่น เฟิร์สท์ (EF Education First) หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า EF ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นมานับถึงปี 2020 นี้ ก็มีอายุ 55 ปีแล้ว มีโรงเรียนในเครือกว่า400 แห่ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกว่า 34,000 คน นับว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมภาษา การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ได้เปิดเผยถึงดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ 100 อันดับแรก ผลปรากฏว่าความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศไทยในปีนี้ตกลงมาอยู่อันดับที่ 89 โดยมีอันดับที่แย่กว่าปีที่ผ่าน ๆ มา คือ อันดับที่ 74 (ปี 2019) อันดับที่ 64 (ปี 2018) จาก 88 ประเทศ และอันดับที่ 53 (ปี 2017) จาก 80 ประเทศ และยิ่งน่าตกใจมากไปกว่านี้คือ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว อันดับของประเทศไทยอยู่รั้งท้ายประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ (English as a Foreign Language) แม้ว่าไทยจะมีผลการจัดอันดับดีกว่าประเทศเมียนมาก็ตาม

          ผลดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย การกระจายโอกาสทางการศึกษาของไทยที่ยังมีช่วงว่างมาก ซึ่งไม่แตกต่างจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่คนรวยกับคนจนในประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมาก และจำนวนคนจนก็มากกว่าคนรวย ซึ่งแน่นอนว่าคนรวยย่อมจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพมากกว่า เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาคือการลงทุน แต่ด้วยจำนวนคนรวยที่น้อยกว่าคุณภาพการศึกษาที่ดีจึงกระจุกตัวกับคนบางกลุ่มที่มีโอกาสมากกว่า ยิ่งถ้าภาครัฐไม่สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้เสมอกันหรือเท่าเทียมกันทั่วประเทศ การศึกษาก็จะถูกผลักให้กลายมาเป็นเรื่องของส่วนบุคคลหรือครอบครัว แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะได้ระบุว่าการจัดการศึกษาถือเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงก็ตามแต่ (หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย)

         อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบด้านการศึกษาโดยตรงของประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับผลดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ โดยทาง ศธ. เล็งให้ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็นหน่วยอบรมเพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในด้านสมรรถนะพื้นฐานและสมรรถนะวิชาชีพ และครอบคลุมทักษะภาษาอังกฤษ (English Literacy) ด้วย  ซึ่งคาดว่าภายในปี 2564 จะมีศูนย์ HCEC ทั่วประเทศ และจะมีการนำครูต่างชาติเข้ามาพัฒนาความรู้ภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน ซึ่งการนำครูต่างชาติเข้ามาก็ต้องคัดกรองครูที่มีคุณภาพ มิเช่นนั้นการพัฒนาภาษาอังกฤษของเด็กไทยก็ยังเป็นปัญหาซ้ำซากที่แก้ไขไม่ตกหรือไม่ได้เสียที   

         สำหรับวิธียกระดับหรือพัฒนาภาษาอังกฤษของเด็กไทยยุคดิจิทัลอย่างง่าย ๆ แต่ต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งทั้งที่บ้าน (พ่อแม่/ผู้ปกครอง) และโรงเรียน (ครู) ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังก็คือ การเริ่มต้นที่การปรับความคิดหรือมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้มองว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องของความสนุกสนาน ความบันเทิง และความสุขใกล้ ๆ ตัว ด้วยการสร้างแรงจูงใจหรือทำให้เด็กชอบภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมออนไลน์ ฟังเพลงฝรั่ง ดูหนังฝรั่ง อ่านการ์ตูน นิทาน เรื่องสั้น หรือนิยายที่สนุก ๆ เป็นภาษาอังกฤษ โดยเริ่มจากสิ่งที่ไม่ยากและเหมาะสมกับวัยของเด็ก เมื่อเด็กเข้าถึง เข้าใจ และรู้สึกมีความสนุกและความสุขที่มีภาษาอังกฤษเป็นตัวกลางเชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่สนุก ๆ นั้น ๆ แล้วความอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษจะตามมาและง่ายมาก เพราะความอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษจะฝังตัวติดตัวอยู่กับตัวเด็กตลอดไป เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ๆ ความสนใจใฝ่รู้ก็จะขยายขอบเขตไปสู่จักรวาลความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งจะตามมาเองโดยธรรมชาติ ทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารเปิดทางไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่กว้างไกลไร้พรมแดน

         แนวโน้มการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนจุดเน้นจากการเรียนรู้ด้านไวยากรณ์หรือแกรมม่า (Grammar) และการแปลเพียงอย่างเดียว เป็นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (Communicative Approach) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันหรือสถานการณ์จริงต่าง ๆ ได้ โดยแนวคิดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมีจุดเน้นเพื่อยกระดับหรือพัฒนาความสามารทางภาษาอังกฤษของผู้เรียน ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านไวยากรณ์หรือโครงสร้าง (Grammar Competence) ด้านภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistic Competence – การศึกษาความแตกต่างของภาษาในสังคมเดียวกัน) ด้านวาทกรรม (Discourse – การแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกันผ่านการพูดหรือการเขียน) และด้านกลวิธีในการสื่อความหมาย (Strategic Competence) 

         ส่วนแนวโน้มการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในอนาคตจะให้ความสนใจกับการยกระดับหรือพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้เรียนด้วยเทคโนโลยีจดจำเสียงพูด หรือ Automatic Speech Recognition (ASR) หรือ Voice Recognition ที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะแปลงเสียงพูด (Audio File) ให้กลายเป็นข้อความตัวอักษร (Text) เมื่อเด็กเรียนภาษาอังกฤษผ่านการฝึกหัดอ่านและพูดผ่านเทคโนโลยีนี้ ก็จะพัฒนาทักษะการพูดหรือการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้องและมีสำเนียงชัดเจนแบบเจ้าของภาษาได้ ทำให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษสะดวกและง่ายขึ้นแม้ว่าจะไม่มีครูต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษา (Native Speaker) หรือครูต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as a Second Language)   

         หากผู้บริหารสถานศึกษาหรือครูสอนภาษาอังกฤษท่านใดสนใจสื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่รองรับเทคโนโลยีจดจำเสียงพูดและสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอคำแนะนำหรือคำปรึกษาได้ที่ mangoSTEEMS Learning Center พื้นที่หรือศูนย์การเรียนรู้แบบเปิดที่มุ่งตอบโจทย์การเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ณ อาคาร ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
189 ถนนราชวิถี แขวงวชิระเหนือ เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02-004-0784 หรือ มือถือ
06-4280-5620

         ณ วันนี้ที่หลาย ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนในประเทศไทยต่างพากันวิตกกังวลกับผลดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศไทยก็อาจเพียงเพราะหวั่นใจลึก ๆ ว่าจะแข่งขันหรือสู้กับประเทศอื่น ๆ ที่ภาษาอังกฤษเก่งกว่าเราไม่ได้ เพราะภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาสากลและเป็นภาษาทางการของโลกนั่นเอง... แต่ความรั้งท้ายสุด สุด ของประเทศไทยใช่ว่าจะหาทางออกไม่ได้ หากทุกฝ่ายมุ่งมั่นและตั้งใจต่อเนื่องอย่างจริงจัง ยิ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษมีหลากหลายแพลตฟอร์มให้เลือกใช้ตามความต้องการของผู้ใฝ่เรียนรู้ แต่ที่สำคัญสุด สุด ก็คือ การมีใจที่กัดไม่ปล่อยก็จะสามารถพิชิตความยากของภาษอังกฤษได้แน่นอน!!!